หมู่เกาะพีพี

หมู่เกาะพีพี อ่าวต้นไทร

ต้นปาล์มสูงโดดเด่นต้อนรับผู้มาเยือนอ่าวต้นไทร

หมู่เกาะพีพีเป็นหมู่เกาะที่ได้รับการอนุรักษ์อยู่ในเขตวนอุทธยานแห่งชาตินพรัตน์ธาราตั้งแต่ปี พ.ศ.2526 ตั้งอยู่ห่างจากจังหวัดกระบี่เป็นระยะทาง 40 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 35 ตารางกิโลเมตร หมู่เกาะพีพีประกอบด้วย 6 เกาะซึ่งมีทัศนียภาพและชายหาดสวยงาม เต็มไปด้วยปะการังที่มีความเป็นเอกลักษณ์ เป็นหมู่เกาะที่เต็มไปด้วยภูเขาหินปูน และหน้าผาสูงชันตั้งฉากกับท้องทะเล  ความเป็นเอกลักษณ์ของหมู่เกาะแห่งนี้ถือกำเนิดขึ้นจากท้องทะเลอันดามันแห่งนี้ทั้งสิ้น

ที่มาของชื่อ “พีพี” มีที่มาจากชื่อเกาะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดนั่นคือ “เกาะพีพีดอน” และ “เกาะพีพีเล” เกาะอื่นๆมีชื่อเรียกตามรูปร่างของเกาะตามที่ปรากฏนั่นคือ “เกาะไผ่” “เกาะยุง” “เกาะบิดะนอก” และ “เกาะบิดะใน”

ความงดงามตามธรรมชาติของหมู่เกาะพีพีนี้ ได้กลายมาเป็นจุดสนใจของทั่วโลก อันเนื่องมาจากการยกทีมถ่ายทำภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดเรื่อง “เดอะบีช” ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทำให้หมู่เกาะพีพีเป็นที่รู้จักและเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่นิยมมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แม้ว่าในปี 2004 หมู่เกาะอันงดงามแห่งนี้จะได้รับผลกระทบอันใหญ่หลวงจากคลื่นยักษ์ “สึนามิ”  ซึ่งกลืนกินรีสอร์ต ที่พักและสิ่งปลูกสร้างต่างๆบนชายหาดรอบหมู่เกาะ อ่าวต้นไทรและพีพีดอนมีเหยื่อผู้เสียชีวิตและได้รับความเสียหายจากคลื่นยักษ์ครั้งนั้นมากมายทีเดียว ต้องใช้เวลานานพอสมควรในการทำความสะอาดและบูรณะสิ่งต่างๆให้กลับมามีสภาพดังเดิม พร้อมต้อนรับผู้มาเยือนอีกครั้ง ปัจจุบัน เห็นได้ชัดว่าหมู่เกาะพีพีได้กลับมาเป็นสถานที่ยอดนิยมดังเช่นที่เคยเป็นมา และดูจะไปได้ดีกว่าในอดีตอีกด้วย

หมู่เกาะพีพี อ่าวมาหยาสวรรค์บนดิน

อ่าวมาหยา อัญมณีแห่งทะเลอันดามัน

นอกจากความงามของหมู่เกาะแล้ว “ชาวเล”หรือ “ชาวทะเล” เป็นชาวพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ตามหมู่เกาะพีพีมาหลายชั่วอายุคน เป็นชนพื้นเมืองที่ได้รับอนุญาตให้ตั้งถิ่นฐานอยู่ตามเกาะต่างๆ ก่อนหน้านี้ นักพัฒนาที่ดินที่ไร้ซึ่งคุณธรรมหลายต่อหลายคนได้พยายามที่จะหาช่องโหว่ทางกฎหมายเข้ายึดครอง และสร้างสิ่งปลูกสร้างต่างๆบนผืนดินที่เป็นที่ทำกินของชาวพื้นเมืองและในหลายพื้นที่ที่ไม่ได้รับอนุญาต ภัยธรรมชาติสึนามิในครั้งนั้นได้ส่งผลให้ภาครัฐได้ทบทวนสถานการณ์ และยังได้ออกกฎหมายที่คุ้มครองพิทักษ์พื้นที่ต่างๆ ทั้งยังอนุญาตให้เฉพาะการก่อสร้างที่ “เป็นมิตร” ต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้นอีกด้วย เราคงต้องจับตาดูกันต่อไปว่าแนวคิดนี้จะยังคงได้รับการสานต่อไปอีกนานเพียงใด

 

Translated from English by Ms. Issara Anusorn

Share This